24.02.64
 
สมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ในการจัดทำวิจัย ของการศึกษาหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
 

           ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย ร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการศึกษาหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยมีอาจารย์สุพรรณิการ์ สุภพล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ที่กำลังศึกษา หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เข้าพบเพื่อขอสัมภาษณ์ สำหรับการจัดทำวิจัย ในหัวข้อ “แนวทางการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน” เพื่อนำข้อคิดเห็นสำหรับนำไปสร้างแบบสอบถาม เพื่อใช้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจหรือผู้จัดการตราสินค้าในสถานประกอบการทั้งธุรกิจผลิตสินค้าและธุรกิจบริการที่มีตราสินค้าเป็นของตนเอง จำนวน ๕๐๐ ตัวอย่าง ทั่วประเทศ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กันยารัตน์ สุขะวัธนกุล และคุณฉัตรชัย พ่วงสุวรรณ เข้าร่วมสัมภาษณ์ ด้วย



           จากสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ทําให้เกิดมีนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นต้นเหตุให้การแข่งขันในการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทําให้หลายๆ ประเทศต่างพยายามมองหากลยุทธ์และแนวทางใหม่ๆ เพื่อสร้างให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยการสร้างตราสินค้า (Branding) เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายประเทศนิยมนํามาใช้เพื่อทําให้ธุรกิจประสบความสําเร็จ และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทําให้การสร้างตราสินค้าเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากการสร้างตราสินค้าไม่ได้เป็นเพียงการนําเสนอสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโ ภคเท่านั้น แต่การสร้างตราสินค้ายังเป็นการเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์และผู้บริโภคด้วยคุณค่าที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจ ความจงรักภักดีรวมถึงช่วยให้เกิดการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์

           งานวิจัยเรื่อง “แนวทางการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน” นี้ ได้ศึกษาประเด็นปัญหาของผู้ประกอบการไทยที่ไม่สามารถสร้างตราสินค้าเป็นของตนเอง หรือไม่สามารถทําให้ตราสินค้ามีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติได้ คือ การขาดความรู้ด้านการสร้างตราสินค้าให้มีความแตกต่างและมีเอกลักษณ์เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพราะเมื่อไม่มีตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับ ส่งผลให้การทําการตลาด ทําได้ด้วยความยากลําบากด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ตราสินค้า ยังสร้างภาพลักษณ์ให้กับธุรกิจ ด้วยเอกลักษณ์ที่ชัดเจนให้อยู่ในความทรงจําของลูกค้า ทําให้สินค้ามีความแตกต่างและโดดเด่นจากคู่แข่ง และยังมีตราสินค้าของประเทศไทยเป็นจำนวนมากที่ยังไม่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลกได้เท่าที่ควร

           จะเห็นได้ว่า การดําเนินธุรกิจให้ประสบความสําเร็จ จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างศักยภาพทางการแข่งขันด้วยการสร้างตราสินค้าอย่างมีระบบ เกิดการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น และเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันในอนาคตได้อย่างยั่งยืน